โครงการให้ความรู้
กฎหมายการจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ WEEE
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น โทรทัศน์จอสีธรรมดากลายเป็น Smart TV จอบางที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่ใช้จอภาพขนาดใหญ่เปลี่ยนมาเป็นจอแบบ LDE รูปทรงบางหรือใช้ Laptop รวมถึงโทรศัพท์มือถือซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 5 รูปทรงก็เปลี่ยนไปตามสมัยนิยมจากรุ่นเล็กกะทัดรัดมาสู่รุ่นเรือธงขนาดใหญ่ การพัฒนาเหล่านี้ทำให้มีสินค้าตกรุ่น หมดอายุการใช้งานจำนวนมาก นำมาสู่ปริมาณขยะเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste หรือ E-waste) หมายถึง ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานหรือที่เราไม่ต้องการแล้ว โดยกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลือกใช้คำว่า “ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์” (Waste Electrical and Electronic Equipment หรือ WEEE) ตามคำศัพท์ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป
ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย เพราะชิ้นส่วนของขยะเหล่านี้จะปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีและโลหะหนัก เช่น สารตะกั่วทำลายระบบประสาทส่วนกลาง แคดเมียมส่งผลต่อการมีบุตรหรือพันธุกรรม ปรอททำลายอวัยวะต่าง ๆ สารหนูทำลายระบบประสาท ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยตรง และหากกำจัดโลหะหนักไม่ถูกวิธี เช่น ถอดแยกชิ้นส่วน แล้วทำลายด้วยวิธีเผาหรือฝัง สารพิษจะรั่วไหลสู่ระบบนิเวศน์และเกิดปัญหามลพิษทางดิน น้ำ อากาศตามมา
ด้วยเหตุนี้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว คพ. จึงได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ...” (ร่าง พ.ร.บ.) และเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระแรกตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เสนอ ทั้งนี้เพื่อให้มีระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีสาระสำคัญคือ
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายในบังคับร่าง พ.ร.บ.มาตรา 5 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเท่านั้น ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในราชการทหาร
สำหรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ร่างมาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งซากผลิตภัณฑ์ในที่สาธารณะ ที่รกร้างว่างเปล่าหรือทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอย หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร่างมาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ใดรับคืน จัดเก็บหรือรวมรวมซากผลิตภัณฑ์ เว้นแต่จะส่งคืนที่ศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ที่ได้จัดตั้งและขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ หรือบุคคลคลหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้นเพื่อทำการคัดแยกเพื่อนำส่งศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ต่อไป
การจัดตั้งศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์นั้น จะทำโดยผู้ผลิตเองหรือผู้ผลิตทำความตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อให้ดำเนินการแทนก็ได้ ซึ่งตามเป้าหมายของ คพ.จะให้มีศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ กระจาย 3,000 แห่งทั่วประเทศ และเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดอาจดำเนินการในลักษณะให้ อปท.และภาคเอกชนร่วมมือในการดำเนินงาน
อีกประเด็นสำคัญในร่าง พ.ร.บ.คือ หน้าที่และความรับผิดของผู้ผลิต ซึ่งร่างมาตรา 15 กำหนดให้ผู้ผลิต (ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าบนผลิตภัณฑ์, ผู้มีชื่อบนฉลาก, ผู้ประดิษฐ์ ประกอบผลิตภัณฑ์และหมายรวมถึงผู้นำเข้าหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร) มีหน้าที่รับคืน จัดเก็บและรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นของผู้ผลิตรายใด รวมถึงซากผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ หรือที่ไม่มียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าใดๆ หรือที่ผู้ผลิตเลิกดำเนินกิจการแล้วด้วย หากฝ่าฝืนผู้ผลิตจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งผู้ผลิตจะปฏิเสธหรือกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้นำซากผลิตภัณฑ์มาส่งคืนไม่ได้
อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์มานานหลายปีกว่า จะเข้าสู่กระบวนการของ สนช. กล่าวคือ อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลังใช้บังคับกฎหมาย โดยเฉพาะในร่างมาตรา 9 ที่เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าหรือซาเล้ง ที่ขณะนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 60,000 รายทั่วประเทศ โดยแหล่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์
นอกจากนี้ร่างมาตรา 15 ที่กำหนดให้ผู้ผลิตรับภาระการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ อาจส่งผลให้ผู้ผลิตเกรงกลัวในการแบกรับต้นทุนจนเกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยได้ และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้าง GDP ประเทศถึง 20% นับเป็นมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่าปีละ 1.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ภาคธุรกิจยกขึ้นมาให้เห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ...” เป็นกฎหมายในเชิงควบคุมและกำกับดูแลเพื่อให้ระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความรับผิดชอบของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ตามหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ทั้งนี้เพื่อให้มีกลไกในการควบคุมจัดการซากผลิตภัณฑ์ให้เป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันอันตรายจากสารพิษโลหะหนักทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
จากที่กล่าวมา ปัจจัยสำคัญที่ใช้ต่อสู้จัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะพิษก็คือ จะต้องมีศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์กระจายทั่วประเทศ ประชาชนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดการซากผลิตภัณฑ์ โดยกรมควบคุมผลพิษจะต้องเผยแพร่ความรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ประการสำคัญคือความร่วมมือของผู้ผลิตที่ต้องปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้สารอันตรายและง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่า ท้ายที่สุดเมื่อ ร่าง พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับแล้วกฎหมายฉบับนี้จะสามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้ผลมากน้อยเพียงใด
* ชื่อเต็ม “กฎหมายจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ : ทางออกการแก้ปัญหาขยะโลกยุคอนาคต”
โดย...
สุพัทธ์รดา เปล่งแสง
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์